พินัยกรรม ต้องทำตามแบบ

พินัยกรรม คือ คำสั่งครั้งสุดท้าย ซึ่งแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือ กิจการต่าง ๆของผู้ทำพินัยกรรม เพื่อที่จะเกิดผลบังคับตามกฎหมายในเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย โดยทำแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ (ป.พ.พ. มาตรา 1646 – 1648)

#หากไม่ทำตามแบบ พินัยกรรมก็จะตกเป็นโมฆะ

แบบของพินัยกรรม

1.พินัยกรรมแบบธรรมดา (ป.พ.พ. มาตรา 1656)

วิธีทำพินัยกรรมแบบนี้  “ผู้ทำพินัยกรรม” จะต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งจะเขียนหรือพิมพ์ข้อความพินัยกรรมลงบนกระดาษก็ได้ จำนวนกี่แผ่นก็ได้ ตามแต่รายละเอียดมากน้อยที่ต้องการแจกแจงลงไป และต้องลงวันเดือนปีที่ทำให้ชัดเจน

สำหรับวิธีนี้ ผู้ทำจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้า “พยาน” อย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมในขณะทำด้วย

2.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ (ป.พ.พ. มาตรา 1657)

การทำพินัยกรรมวิธีนี้ อาจเรียกได้ว่า เรียบง่ายที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำเขียนขึ้นด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องมีพยานก็ได้

โดยวิธีการ คือ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนพินัยกรรมด้วย “ลายมือตัวเอง” ทั้งฉบับ ลงวันเดือนปีที่ทำ และอย่าลืมลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมด้วย โดยกรณีการทำพินัยกรรมแบบนี้ จะมีพยานมารับรู้การทำพินัยกรรมหรือไม่มีก็ได้

3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ. มาตรา 1658)

การขอทำพินัยกรรมเป็นเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอให้กรมการอำเภอ (นายอำเภอ) อำเภอใดก็ได้ ดำเนินการให้ตามความประสงค์ ดังนี้

คำอธิบายขั้นตอนการทำพินัยกรรมเป็นเอกสารฝ่ายเมือง

  1. ผู้ทำพินัยกรรม แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอต่อหน้า พยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
  2. นายอำเภอจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบแล้วนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้น ให้ผู้ทำ พินัยกรรมและพยานฟัง
  3. เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกัน กับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
  4. ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี จดลงไว้ด้วยตนเอง เป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่ง ไว้เป็นสำคัญ

– การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ไม่จำเป็นต้องทำในที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอเสมอไป ถ้าผู้ทำร้องขอจะทำนอกที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอก็ได้ เมื่อทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว ถ้าผู้ทำพินัยกรรม ไม่มีความประสงค์จะขอรับเอาไปเก็บรักษาเองโดยทันทีแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอจัดเก็บรักษา พินัยกรรมนั้นไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอก็ได้

– เมื่อความปรากฏว่า ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายแล้ว ผู้จัดการมรดก หรือผู้ได้รับทรัพย์มรดก โดยพินัยกรรม หรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือผู้ซึ่งทำพินัยกรรมให้ จะขอรับพินัยกรรม ไปไว้ โดยแสดงหลักฐานการตายของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อสอบสวนเป็นที่พอใจแล้ว ให้นายอำเภอมอบ พินัยกรรมนั้นให้ไป

4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ (ป.พ.พ. มาตรา 1660)

ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม (อาจเขียนหรือพิมพ์) แล้วลงลายมือชื่อตัวเอง และปิดผนึกพินัยกรรมพร้อมทั้งลงลายมือชื่อทับรอยผนึก

จากนั้นให้นำพินัยกรรมที่ปิดผนึกและลงลายมือชื่อทับแล้ว ไปแสดงต่อเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานเขต (กทม.) หรือที่ว่าการอำเภอ (ตจว.) พร้อมทั้งพยานอย่างน้อย 2 คน และแจ้งต่อบุคคลเหล่านี้ว่า พินัยกรรมนี้เป็นของตน

เจ้าหน้าที่จะจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไว้บนซอง และประทับตราตำแหน่ง โดยผู้ทำพินัยกรรม, พยาน และเจ้าหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึก

5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา (ป.พ.พ. มาตรา 1663)

การทำพินัยกรรมในกรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่อผู้ต้องการทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น อยู่ในที่อันตราย ฯลฯ ก็สามารถทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาได้ โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนาทำพินัยกรรมต่อหน้า “พยาน” ที่อยู่ตรงหน้าอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน

พยานต้องรับฟังข้อความนั้น แล้วรีบไปแจ้งต่อราชการโดยเร็วที่สุด คือ ไปสำนักงานเขต สำหรับ กทม. หรือที่ว่าการอำเภอ สำหรับต่างจังหวัด โดยให้แจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ด้วยวาจา พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี และสถานที่ทำพินัยกรรม รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

เจ้าหน้าที่จดข้อความที่ได้รับแจ้ง พร้อมทั้งให้พยานที่มาแจ้งลงลายมือชื่อ (ในกรณีไม่อาจลงลายมือชื่อก็ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและให้พยานที่หามาใหม่อย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง)

6.พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศต้องการทำพินัยกรรม มีสิทธิเลือกทำตามแบบของกฎหมายประเทศที่ตนอยู่ทำพินัยกรรมก็ได้ หรือจะทำแบบของกฎหมายไทยก็ได้

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่