รู้จักที่สาธารณประโยชน์

#ที่สาธารณประโยชน์ หมายถึง ที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามสภาพธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรม หรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ที่ป่าช้า ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ ที่สาธารณประโยชน์ประจำตำบลหรือหมู่บ้าน เป็นต้น 

ซึ่งที่สาธารณประโยชน์นี้ เกิดขึ้นหรือได้มาจาก

1.การได้มาซึ่งเกิดจากสภาพธรรมชาติของทรัพย์สินนั้น หมายความว่า โดยสภาพของตัวทรัพย์มีไว้สำหรับให้พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ

2.การได้มาซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ร่วมกันของราษฎร เช่น ทางซึ่งราษฎรใช้เดินร่วมกันมา 40-50 ปี ไม่มีใครหวงห้าม จนเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นทางสาธารณะนั้น เป็นทางหลวง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1574/2498) หรือที่ดินซึ่งประชาชนในหมู่บ้านใช้ร่วมกันสำหรับเลี้ยงสัตว์พาหนะ โค กระบือ และเป็นที่ป่าช้ามานาน 80 ปีเศษแล้ว เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ตามสภาพของที่ดินและการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยไม่ต้องมีประกาศพระราชกฤษฎีกาสงวนไว้หรือขึ้นทะเบียน หรือมีเอกสารของทางราชการกำหนดไว้ให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (คำพิพากษาฎีกาที่ 100/2515)

3.การได้มาโดยทางนิติกรรม เช่นได้มาโดยการซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้มาโดยการยกให้หรืออุทิศ ซึ่งหมายถึง กรณีที่เอกชนเจ้าของที่ดินได้สละที่ดินของตนเองให้กับรัฐเพื่อใช้หรือสงวนไว้ เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยเฉพาะ เช่น ยกให้เป็นทางสาธารณะ ยกให้เป็นที่สร้างโรงเรียน โดยอาจเป็นการอุทิศโดยตรงหรือ

โดยปริยายก็ได้

4.การได้มาโดยผลของกฎหมาย โดยเป็นการสงวนหวงหรือหวงห้าม โดยรัฐจะกันหรือกำหนดเขตที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้เพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ของทางราชการหรือเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 เมื่อเป็นที่สาธารณประโยชน์จะมีผลดังนี้
  1. ห้ามโอน ที่สาธารณประโยชน์จะโอนให้แก่กันไม่ได้ เว้นแต่จะออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น
  2. ห้ามยกอายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐ ผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินสาธารณประโยชน์ จะอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเกิน 10 ปี เหมือนอย่างที่ดินทั่ว ๆ ไป ไม่ได้
  3. ไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ที่ดินสาธารณประโยชน์จะยึดเพื่อขายทอดตลาดตลาดไม่ได้
  4. เมื่อเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แล้ว จะเป็นตลอดไป จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ เช่น ที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ ต่อมาปรากฏว่าลำรางตื้นเขิน ไม่มีสภาพเป็นลำราง ที่ดินบริเวณลำรางนั้น ก็ยังคงถือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ผู้ใดจะเข้าไปครอบครองไม่ได้

          ฉะนั้น ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์บนที่ดิน หนองน้ำที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแม้จะครอบครองมาถึง 30 ปี ก็มิได้สิทธิครอบครอง และห้ามมิให้ยึดทรัพย์ของแผ่นดิน รวมถึงการบังคับคดีด้วย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่