แอบหลับในเวลางานโดนไล่ออก ไม่จ่ายค่าชดเชยนะ

การหลับหรือการนอนถือได้ว่าเป็นการพักผ่อนกายาที่ดีที่สุด แต่!!ต้องหลับให้ถูกที่ถูกเวลานะ
อย่างเรื่องที่จะเขียนถึงในวันนี้เป็นเรื่องของลูกจ้างที่หลับผิดที่ผิดเวลาหรือเรียกกันแบบตรงไปและตรงมาว่า “แอบหลับในเวลางาน”นั่นเอง
ดังนั้น แฟนเพจทนายคู่ใจ จะขอรีบชี้แจงแถลงเรื่องนี้โดยไม่ให้ชักช้าเสียเวลาว่าการแอบหลับในเวลางานนั้น ถ้านายจ้างหรือท่านหัวหน้าพบเห็นแล้ว โดนตักเตือนแล้ว แต่บังอรก็ยังแอบหลับเป็นประจ้ำ ประจำ แบบนี้!!นายจ้างไล่ออกโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้นะ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่ง กรณีใด ดังต่อไปนี้
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
ฎีกา 2425/2557
จำเลยอ้างว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ทั้งสี่ครั้ง นอกจากแต่ละครั้งจะห่างกันเกิน 1 ปีแล้ว เรื่องที่จำเลยตักเตือนอ้างว่าโจทก์กระทำผิดในหนังสือเตือนแต่ละครั้งก็เป็นความผิดที่แตกต่างกันที่มิใช่เรื่องเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว สำหรับหนังสือเลิกจ้างโจทก์กระทำผิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 เอกสารหมาย ล.2 นั้น จำเลยอ้างว่า โจทก์กระทำผิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 เวลา 10 น. คือโจทก์นอนหลับในที่ทำงาน และยังระบุความผิดของโจทก์อีกประการหนึ่งว่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 เวลา 8.30 น. โจทก์ไม่อยู่ในบริษัทโดยไม่แจ้งให้ผู้ใดทราบ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยมิได้มีหนังสือตักเตือน และโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนคำเตือนและทำผิดซ้ำคำเตือนในประเภทเดียวกัน เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตรงกันขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนเป็นการไม่ชอบ เมื่อพิจารณาหนังสือตักเตือนโจทก์ครั้งที่ 1 – 3 เมื่อนับจากวันที่โจทก์กระทำความผิดจนถึงวันเลิกจ้างนั้นเกิน 1 ปี หนังสือเตือนดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ หนังสือเลิกจ้างระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ 2 ประการ คือ วันที่ 14 กรกฎาคม 2550 โจทก์นอนหลับในที่ทำงาน การกระทำของโจทก์ในครั้งนี้เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ โจทก์กระทำผิด ส่วนวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 เวลา 8.30 น. โจทก์ไม่อยู่ในที่ทำงาน และไม่ได้แจ้งให้ใครทราบ ผู้บังคับบัญชาต้องการมอบหมายงานให้โจทก์และรอโจทก์เป็นเวลา 10 – 20 นาที โจทก์จึงกลับเข้ามาพร้อมหนังสือพิมพ์ การกระทำของโจทก์ในส่วนนี้จำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์ ฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 โดยระบุว่าวันที่ 21 ธันวาคม 2549 โจทก์ไม่ได้อยู่ในที่ทำงานโดยไม่ได้แจ้งหรือบอกกล่าวใคร และเมื่อสอบถามทางโทรศัพท์โจทก์แจ้งว่าอยู่ในห้องน้ำการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ 7 วินัยและโทษทางวินัย 7.1 และ 7.2 ซึ่งโจทก์เคยได้รับการตักเตือนอย่างนี้มาก่อนแล้ว หากจำเลยพบว่าโจทก์ยังกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอีก จำเลยสามารถพิจารณาให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานได้ โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบการกระทำของโจทก์ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนแล้ว และเมื่อเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนที่ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์กระทำผิด จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
@เขียวข้าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่