หลอกลวง อ้างความเชื่อ ไสยศาสตร์ ผิดฉ้อโกง?

พิจารณาจากสถานการณ์ว่ามีผู้ได้รับความเสียหายหรือไม่ เช่น เสียเงิน เสียทองหรือไม่? หากไม่มี…ก็ไม่มีความผิด

 ความผิดจะต้องเข้าองค์ประกอบ คือ หลอกลวง เสียทรัพย์

องค์ประกอบในการกระทำความผิดตามกฎหมาย มาตรา 341

1) โดยทุจริต (เจตนา)

2) หลอกลวงผู้อื่น

3) ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความที่จริงที่ควรบอก

4) ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือของบุคคลที่สาม

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๔๑  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๔๒  ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ

(๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ

(๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๔๓  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

การหลอกลวง โดยอ้างความเชื่อในด้านศาสนา หรือไสยศาสตร์

– คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2502 จำเลยหลอกลวงว่าน้ำที่พุขึ้นนั้น เจ้าแม่สำโรงบันดาลให้มีขึ้นและอ้างว่าน้ำพุนั้นศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ประชาชนคนดูหลงเชื่อ ได้เอาน้ำนั้นไปใช้กินและทารักษาโรค แต่ไม่หายเพราะเป็นน้ำธรรมดาในลำคลองนั้นเอง และได้ให้เงินแก่จำเลย โดยหลงเชื่อว่าน้ำนั้น เป็นของศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ แต่ความจริงนั้น จำเลยที่ 1 เอาเท้าพุ้ยน้ำในคลองทำให้น้ำพุผุดขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวแก่เจ้าแม่อะไรเลย จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบิดาได้ร่วมกระทำผิดด้วยโดยอ้างว่าน้ำพุนั้น เจ้าแม่บันดาลให้เกิดขึ้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งเป็นการปกปิดความจริงและแสดงข้อความเท็จ ถือว่าสมคบกันฉ้อโกงตาม มาตรา 343

–  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2531 จำเลยไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ แต่ได้ขายน้ำมันพรายให้กับผู้เสียหายในราคา 300 บาท อ้างว่าจะช่วยให้ค้าขายดี นอกจากนี้จำเลยยังคอยบอกผู้เสียหายว่าทำผิดผี ต้องทำพิธีไหว้อาจารย์ จนผู้เสียหายยอมมอบเงินและทรัพย์สินอื่นรวมหลายหมื่นบาทให้จำเลยไป เพื่อทำพิธีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

  • ร่างทรงอ้างตัวเป็นแพทย์ รักษาคนทั้งที่มิใช่แพทย์ มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน อ้างอิงฎีกาที่ 2593/2521

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่