ใครอยากเลี้ยงสิงโต ควรรู้ 10 เรื่องในการครอบครองสิงโต

ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้ง และการครอบครอง

เปิดเผยความรู้ 10 เรื่องที่ควรรู้ในการครอบครองสิงโต ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้ง และการครอบครองซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

1.สิงโตเป็นสัตว์ป่าควบคุมชนิดหรือซากที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2.สิงโตเป็นสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก ที่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดด้วยลักษณะสายพันธุ์มีความดุร้ายหรือด้วยลักษณะนิสัย พฤติกรรม อาจสร้างความหวาดกลัวหรือทำอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน

3.พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบสถานที่ครอบครองก่อนออกใบรับแจ้งการครอบครอง

4.การดูแลและจัดสวัสดิภาพสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก ต้องจัดสถานที่ครอบครองให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันสัตว์ป่าควบคุมหลุดไปทำร้ายผู้อื่น ต้องจัดทำป้ายเตือนอย่างชัดเจน

การเคลื่อนย้ายต้องจัดระบบอย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสัตว์ป่าควบคุม และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น หรือกรณีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก หลุดออกจากสถานที่ครอบครองให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชม.

5.ผู้ครอบครองต้องการดูแลและการจัดสวัสดิภาพตามประเภทของการครอบครอง แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ การครอบครองในลักษณะสัตว์เลี้ยง, การดูแลและครอบครองสัตว์ป่าควบคุมเพื่อการค้า รวมถึงสถานที่ขออนุญาตเพาะพันธุ์

การครอบครองสัตว์ป่าควบคุมในลักษณะเลี้ยงเพื่องานอดิเรก, การครอบครองสัตว์ป่าควบคุมในลักษณะสวนสัตว์ของผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ และ ลักษณะเปิดให้รับชมเพื่อความเพลิดเพลิน การแสดง เพื่อนันทนาการ การแข่งขัน หรือการประกวด

6.กรณีที่มีการเกิด การตาย หรือซากเพิ่มขึ้นหรือลดลง ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพหรือจำนวน

7.กรณีสูญหายให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นหนังสือภายใน 30 วัน

8.ผู้รับใบรับแจ้งการครอบครองต้องดูแลรักษาสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าควบคุม ณ สถานที่ระบุในใบรับแจ้งการครอบครองโดยเคร่งครัด กรณีเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 15 วัน

9.กรณีนำไปจัดแสดง แข่งขัน หรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากการเลี้ยงหรือการเก็บรักษาตามปกติ ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ให้ยื่นแบบต่อเจ้าหน้าที่ก่อนการเคลื่อนย้าย

10.บทกำหนดโทษ กรณีไม่แจ้งการครอบครองมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่ 100,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ออกตามมาตรา 19 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ครอบครองสามารถโอนเปลี่ยนชื่อเป็นผู้ครอบครองรายอื่นได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน อย่างเช่น การโอนแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างสวนสัตว์ รวมทั้งการโอนย้าย ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน เพราะสิงโตเป็นสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก เพราะเป็นสัตว์ที่มีความดุร้าย

ขณะเดียวกันหากนำไปครอบครอง ต้องจัดสถานที่ให้ปลอดภัย เหมาะสมกับชนิด ขนาด และพฤติกรรมของสัตว์ ขนาดกรงหรือคอกต้องมีอาณาบริเวณที่เพียงพอต่อสภาพร่างกาย จิตใจ และสังคม สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำให้ผู้อื่นต้องหวาดกลัวไปด้วย

ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่